ภายใน Changi Chapel

ถ่ายภาพโดย Joel Chua DY

สงครามโลกครั้งที่สองเป็นความหายนะที่ส่งผลต่อชีวิตผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก

ในสิงคโปร์ โศกนาฏกรรมนี้นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเจ็บปวดโดยเฉพาะกับเชลยสงคราม รวมถึงพลเรือนที่ถูกขังไว้ใน Changi Prison (คุกชางงี) ที่อื้อฉาวแห่งนี้ในระหว่างการยึดครองของญี่ปุ่น Changi Museum เป็นสถานที่ที่เตือนใจถึงเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดในห้วงเวลาที่มืดมน และให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์สะเทือนใจที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ในช่วงปี ค.ศ. 1942 ถึง 1945

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดทำการ ณ สถานที่ตั้งในปัจจุบันเมื่อวันที่  15 กุมภาพันธ์ 2001 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 59 ปี ที่สิงคโปร์แพ้สงครามญี่ปุ่นในปี 1942 ณ ที่แห่งนี้ ผู้เข้าชมสามารถดูภาพถ่าย ภาพวาด และจดหมายจากผู้ต้องขัง ใช้เวลา 45 นาทีในการเดินชมรอบ ๆ Changi Museum โดยมีมัคคุเทศก์เป็นผู้นำชม นอกจากนี้ ยังมีให้บริการออดิโอทัวร์ที่คุณจะได้รับรู้ถึงประสบการณ์ของชายและหญิงที่ถูกคุมขังใน Changi (ชางงี)

สถานที่แห่งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้การศึกษาแก่คนรุ่นหลังเพื่อให้ได้รับรู้ถึงความน่ากลัวและความห้าวหาญที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามในสิงคโปร์ และที่ร้านค้าของพิพิธภัณฑ์ยังมีหนังสือเกี่ยวกับ Changi และประสบการณ์ของเชลยสงครามในตะวันออกไกลที่สมบูรณ์ครบถ้วนจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว

ส่วนพื้นที่กลางแจ้งของ Changi Chapel

ถ่ายภาพโดย Joel Chua DY

นอกจากนี้ Changi Museum ยังเป็นที่ที่ช่วยให้บรรดาเชลยสงคราม นักโทษที่เป็นพลเมือง รวมทั้งครอบครัวของพวกเขา ได้เยียวยาจิตใจจากความทุกข์เศร้าอันเนื่องมาจากสงคราม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บรวบรวมระเบียนข้อมูลของพลเรือนที่ถูกกักขังไว้ได้เกือบ 5,000 รายการในฐานข้อมูลออนไลน์ที่สืบค้นได้ และมีการจัดเก็บเอกสารของบรรดาพลเมืองบางส่วนที่ถูกคุมขังอยู่ในสิงคโปร์ในช่วงการยึดครองของญี่ปุ่น

หลังจากเดินชมพิพิธภัณฑ์จนทั่วแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และสถานที่ที่น่าสนใจซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รวมถึง Changi Village (ชางงีวิลเลจ), Changi Beach (ชางงีบีช), Old Changi Jail (เรือนจำชางงีเก่า) และ Selarang Barrcks (เซเลรัง บาร์รักส์)

ถ่ายภาพโดย National Heritage Board

สงครามโลกครั้งที่สองเป็นความหายนะที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก Changi Chapel and Museum ฉายภาพแห่งยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความอลหม่านวุ่นวาย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ในช่วงปี ค.ศ. 1942 ถึง 1945 ในระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครอง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2001 ซึ่งตรงกับวันครบรอบที่สิงคโปร์ถูกยึดครองโดยกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่น และที่นี่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเชลยสงคราม (POW) และพลเรือนที่ถูกขังอยู่ในคุก Changi

ก่อนหน้านี้พิพิธภัณฑ์ได้ปิดปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ในปี 2018 และได้เปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2021 เพื่อนำเสนอเรื่องราวมากมายในอดีต

เรื่องราวของความเข้มแข็งท่ามกลางความทุกข์โศก

ถ่ายภาพโดย National Heritage Board

Changi Chapel and Museum ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เพื่อย้อนรำลึกถึงบาดแผลของความรุนแรงแห่งสงครามเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งของจิตวิญญาณมนุษย์อีกด้วย

ด้วยการบริจาคและการให้ยืมจากครอบครัวของผู้เคยถูกกักขัง ทำให้ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีข้าวของประมาณ 114 ชิ้นที่จัดแสดงในโซนพิพิธภัณฑ์ 8 โซนด้วยกัน ซึ่งสะท้อนถึงชีวิตประจำวัน การต่อสู้ดิ้นรนของบรรดานักโทษ และการได้รับการปลดปล่อยเมื่อสงครามยุติลง

สี่โซนแรกของพิพิธภัณฑ์บันทึกการเปลี่ยนแปลงของ Changi จากศตวรรษที่ 19 จนมาถึงทศวรรษ 1920 ซึ่งเป็นช่วงที่สิงคโปร์ถูกยึดครองในสงครามโลกครั้งที่ 2 และทหารหาญและเชลยสงครามต้องถูกกักขังอยู่ที่ Changi

สี่โซนหลังจะแสดงหลักฐานเชิงลึกเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของผู้ถูกคุมขัง ความพยายามที่จะมีชีวิตและความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาท่ามกลางความทุกข์ยากแสนสาหัส การได้รับอิสรภาพในท้ายที่สุด และบาดแผลภายหลังสงคราม

ประวัติศาสตร์ ความทุกข์ยาก และวีรบุรุษ

แม้ว่า Changi Chapel and Museum จะฉายโชนภาพกว้างๆ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่พื้นที่แห่งนี้ก็ยังเจาะลึกถึงเรื่องราวส่วนตัวของเชลยสงครามที่ถูกกักขังอยู่ที่ Changi

การแสดงในจอภาพเป็นการให้บริบททางประวัติศาสตร์ของชางงีตั้งแต่บรรยากาศอันสงบสุขของย่านนี้ในช่วงก่อนสงคราม จนมาถึงช่วงต้นระยะเวลา 3 ปีครึ่งที่สิงคโปร์ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น

คุก Changi Gaol ที่สร้างขึ้นใหม่ของพิพิธภัณฑ์ช่วยให้ผู้เข้าชมเข้าใจถึงสถานการณ์ในตอนนั้นของบรรดาเชลยสงครามที่ถูกกุมขัง และเข้าใจถึงความแออัดคับแคบของคุกแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีการเล่นเครื่องบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างเชลยสงครามเพื่อให้เราได้เห็นภาพชีวิตความเป็นอยู่และกิจวัตรประจำวันของพวกเขา

ในบรรดาข้าวของที่จัดแสดงจำนวน 114 ชิ้นที่ Changi Museum and Chapel แห่งนี้ 82 ชิ้นเป็นของที่นำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก ขณะที่อีก 37 ชิ้นได้รับการบริจาคหรือขอยืมมาจากคนทั่วไป

ข้าวของที่จัดแสดงได้แก่ สมุดไดอารี่หนา 400 หน้า และภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ทำขึ้นเลียนแบบ ซึ่งวาดโดย Bombardier Stanley Warren และแสดงภาพต่างๆ จากพระคริสต์ธรรม ผู้เข้าชมยังจะเห็นข้าวของในชีวิตประจำวันที่ผู้ถูกกุมขังเหล่านี้แอบซ่อนไว้ด้วยความยากลำบาก อาทิ กล้องฟิล์ม Kodak Baby Brownie และกล่องไม้ขีดที่ซ่อนรหัสมอร์สไว้

นอกเหนือจากสิ่งของที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงอดีตที่แสนขมขื่นเหล่านี้แล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นแหล่งรวมฐานข้อมูลของเชลยศึกสงครามและพลเรือนที่ถูกกักขังจำนวนมากกว่า 50,000 คนอีกด้วย ทางพิพิธภัณฑ์ยังยินดีเปิดรับการมีส่วนร่วมของบรรดาผู้เข้าชมที่อาจจะมาแบ่งปันเรื่องราวในอดีตที่ตัวเองหรือคนใกล้ชิดได้เคยสัมผัส เพื่อให้มั่นใจว่าตำนานของผู้เคยผ่านเข้าสู่ประตูของ Changi นั้นยังคงได้รับการบอกเล่าอย่างสัมผัสได้จริง

การเข้าใช้บริการและค่าเข้าชม

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีบริการทัวร์เที่ยวชมโดยมีไกด์นำทางที่เปิดให้บริการฟรีโดยต้องทำการจองเวลาล่วงหน้า และผู้เข้าชมสามารถเช็คตารางเวลาได้ที่ Changi Chapel Museum โปรดทราบว่าขณะนี้มีการจำกัดขนาดของกลุ่มทัวร์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย

ผู้สนใจเข้าชมโปรดจองบัตรเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ หรือแชทบอท ซึ่งหากเป็นวิธีหลัง ผู้เข้าชมจะสามารถเข้าถึงทัวร์แบบมีเสียงบรรยายและไกด์เสมือนจริงที่นำไปสู่สถานที่ต่างๆ โดยรอบบริเวณในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ก่อนออกจากที่นี่ อย่าลืมแวะไปอุดหนุนสินค้าที่ร้าน MUSEUM LABEL ของทางพิพิธภัณฑ์